HOME

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Google earth กับ El Dorado นครแห่งทองคำ !!!

          ณ พื้นที่ป่าดิบชื้นแห่งแอมะซอนที่อุดมสมบูรณ์ จะครอบคลุมพื้นที่กว่า 6 ล้านตารางกิโลเมตร (กว้างกว่าอินเดียเกือบ 2 เท่า อินเดียมีพื้นที่เพียง 3,287,590 ตร. กม.) ดินแดนที่มีพืชพรรณและสัตว์ป่านานาชนิด เต็มไปด้วยดินเหนียวที่มีสภาพเป็นกรด ดินแดนที่ถูกสรุปว่าไม่เหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ได้มีตำนานเล่าขานถึง อาณาจักรแห่งทองคำ อาณาจักรที่ว่ากันว่า มีมรกตขนาดเท่าไข่ไก่ มีเพชรนิลจินดามหาศาล และองค์จักรพรรดิที่ชุบตัวด้วยทองคำ ดินแดนที่ถูกขนานนามว่า "เอลโดราโด"  (El Dorado)

ภาพ EL DORADO จากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง The ROAD to EL DORADO
          ตำนานของนครทองคำเริ่มต้นจากการที่ชาวสเปนเข้าไปพิชิตชาวอินคาในช่วงศตวรรษที่ 15 - 16 โดย ฟรังซิสโก ปิซาร์โร เป็น ผู้พิชิตอาณาจักรอินคาได้สำเร็จ ด้วยกองกำลังเพียงเล็กน้อย (แต่อาวุธครบมือนะ) และขนทองคำ ของมีค่ากลับมายังสเปน ทองจำนวนมหาศาลนั้นเมื่อรวมกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าชาวพื้นเมืองถึงนครแห่งทองคำที่บอกเล่าให้กับ  เซบาสเตียน เดอ เบลาลกาซาร์ ทำให้ เซบาสเตียน เดอ เบลาลกาซาร์ ผู้พิชิตชนเผ่าอินคาแห่งอเมริกาใต้ และเป็นผู้ก่อตั้งเมืองหลวงของเอกวาดอร์ในปัจจุบัน เชื่อเรื่องนครแห่งทองคำ ซึ่งต่อมาเป็นการจุดประกาย ให้กับนักสำรวจเพื่อค้นหา นครแห่งทองคำ แต่ไม่มีผู้ใดทำสำเร็จ หรือพบร่องรอยของนครแห่งทองคำแห่งนี้ (มีการค้นพบทะเลสาบที่เชื่อว่าจักรพรรดิแห่งเอลโดราโด ใช้เป็นสถานที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และทองคำบางส่วน)


ภาพ ฟรังซิสโก ปิซาร์โร 
                    การค้นหาและเข้าไปสำรวจเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 เพอร์ซี ฟอร์เซตต์ ได้เข้าไปสำรวจเพื่อค้นหา เอลโดราโด ถึง 7 ครั้ง และก็ได้หายสาบสูญไปในปี 1925 มีเพียงร่องรอยสุดท้ายคือ โทรเลข ที่ส่งถึงภรรยาเขาในวันที่ 29 พฤษภาคม 1925 เท่านั้น ทำให้ เอลโดราโด กลายเป็นปริศนามาอย่างยาวนาน
                     ต่อมาในปี 2002 อัลซีอู รานซี นักโบราณคดีชาวบราซิลได้ร่วมมือกับ มาร์ตติ แพร์สซิเนน ศาสตราจารย์ด้านละตินอเมริกัน ได้ค้นพบอารยธรรมที่หายสาบสูญ บริเวณแอมะซอนตะวันตก พวกเขาใช้ กูเกิลเอิร์ท สำรวจพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม และการบินสำรวจ ทำให้พวกเขาค้นพบ จีโอกลิฟ จำนวนมาก ( geoglyph หรือ ลวดลายที่สลักบนพื้นดิน ) ซึ่งเชื่อว่าอารยธรรมที่สาบสูญนี้ อาจครองพื้นที่ 250x250 ตารางกิโลเมตร และ อาจมีประชากรอาศัย อยู่ราว 60,000 คน จากการตรวจอายุคาร์บอนบริเวณจีโอกลีฟพบว่าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 1-14 และยังมีการพบซากกระท่อม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือทำครัว และคูน้ำ สะพาน ถนนขนาดใหญ่ ซึ่งขัดกับนักวิชาการที่กล่าวว่า ดินแดนนี้มีสภาพดินเป็นกรด ทำการเพาะปลูก หรืออยู่อาศัยไม่ได้
          ต่อมาในปี 2009 ไมเคิล เฮคเคนเบอร์เกอร์ นักมนุษยวิทยาชาวอเมริกันร่วมกับคนท้องถิ่นได้ค้นพบซากเมืองอีกกว่า 28 แห่ง ซึ่งมีการประเมิณว่าอาจมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 50,000 คน และนักวิชาการบางกลุ่ม ค้นพบว่าชนพิ้นเมืองเมื่อราว 1,200 ปีก่อนมีวิธีที่จะเปลี่ยนดินเลวของป่าดิบชื้นให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ และเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2011 หน่วยงานของบราซิล (FUNAI) ยังค้นพบว่ามีชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ราบลุ่มแห่งนี้ โดยที่ไม่เคยพบปะ หรือ ติดต่อกับโลกภายนอกมาก่อนด้วย และปัจจุบัน ยังพบ จีโอกลีฟมากกว่า 250 แห่ง และคาดว่ามีอีกนับ 1,000 แห่ง ที่รอการค้นพบ ภาพด้านล่างแสดงถึง Geoglyph ที่ค้นพบบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน




        การค้นพบอารยธรรมที่สูญหายเล่านี้ ยังไม่มีการชี้ชัดว่าคือ เอลโดราโด หรือไม่ ไม่ว่าตำนานของเมืองทองคำแห่งนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ลุ่มน้ำแอมะซอน ก็กลายเป็นขุมทองสำหรับนักโบราณคดีไปแล้ว เป็นขุมทองที่ยังรอการค้นพบอีกมาก สักวันนึง เทคโนโลยีของมนุษย์อาจทำให้ความฝันที่ยิ่งใหญ่ของนักสำรวจชาวสเปนในศตวรรษที่ 16 และ เพอร์ซี ฟอร์เซตต์ เป็นจริงก็ได้
         นี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ปัจจุบันเรามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากมาย หลายๆเครื่องมือนั้น ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ได้โดยง่าย แล้วตอนนี้ทุกคนใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่รอบตัวให้เกิดประโยชน์แล้วหรือยัง ไม่แน่คุณอาจจะเป็นคนต่อไปที่ค้นพบ อารยธรรมที่หายสาบสูญไปก็เป็นได้ !!! 


ภาพเครื่องทองถูกค้นพบที่ริมฝั่งทะเลสาบในโคลัมเบีย
มีลักษณะคล้ายการทำพิธีบูชายัญของจักรพรรดิแห่งเอลโดราโด
ตามคำบอกเล่าของเผ่าอินคา


สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

http://www.megazy.com
หรือ นิตยสาร SCIENCE ILLUSTRATED ฉบับเดือนมีนาคมปี 2012 

หรือดูการ์ตูนเกี่ยวกับ เอลโดราโด จากเรื่อง The ROAD TO EL DORADO ได้ครับ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น